ผ้าจากเปลือกไม้



เกร็ดความรู้

มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในแถบฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันตกของภาคใต้มีวัฒนธรรมการนุ่งห่มด้วยผ้าทำจากเปลือกไม้    
 โดยพบหินทุบเปลือกไม้ ( barkcloth  beaters  )  ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งหินทรงกระบอก หรือ ทรงรี ด้านหนึ่งสกัดเป็นร่องเส้นไขว้เป็นตาตาราง  ในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ ถ้ำเบื้องแบบ ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี   และแหล่งโบราณคดีอื่น ๆในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช  และพังงา อีกด้วย   
จากนั้นในราวพุทธศตวรรษที่ 5– 6  ชุมชนโบราณในภาคใต้ได้มีการรับวัฒนธรรมจากอินเดีย จีน และเมดิเตอเรเนียน   ทำให้มีการพัฒนาการทำผ้าจากเปลือกไม้มาเป็นการทอผ้าด้วยเส้นใยจากพืช   
โดยเฉพาะ ฝ้าย ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในอินเดีย นั้น น่าจะมีการนำเข้ามาปลูกและเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตเส้นใยและทอผ้าจากเส้นใยฝ้ายแล้ว    เพราะพบอุปกรณ์ปั่นด้ายที่เรียกว่า  แว ทำจากดินเผาและหิน มีรูปทรงต่าง ๆ กันตั้งแต่มีฐานรูปกรวยรูปครึ่งวงกลมมีแกนยาวเป็นเดือยทรงกระบอกยื่นออกมาและมีรูตรงกลาง   ในแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลานี้หลาย แห่ง  อาทิ  แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว  จ.ชุมพร  และแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด  ในเขตอ.คลองท่อม  จ.กระบี่   
ในราวพุทธศตวรรษที่ 12  เป็นต้นมา ได้พบหลักฐานประติมากรรมรูปเคารพที่แสดงอิทธิพลอินเดียจำนวนมากในคาบสมุทรภาคใต้  ที่แต่งกายตามแบบอินเดีย   รวมทั้งพบศิลาจารึกภาษาปัลลวะ  ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันในอินเดียภาคใต้  ในหลายพื้นที่  อันอาจแสดงว่า ชาวอินเดียได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน และ ถ่ายทอดความรู้ด้านต่าง ๆ แก่คนพื้นเมือง  ซึ่งอาจรวมถึง การทอผ้ารูปแบบต่าง ๆ  ด้วย

Credit: http://board.postjung.com/881033.html